Flying Purple Butterfly

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บันทึกการเข้าเรียน วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม 2557

บันทึกการเข้าเรียนวันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม 2557



1.ร้องเพลงทบทวน 10 เพลงและเต้นเพลงที่มีท่าประกอบ


2.ทำกิจกรรมเป็นวงกลมเพื่อให้เกิดความสนุกและเกิดความสามัคคี 

3.แบ่งกลุ่มทำนิทานทำเรื่อง ทะเล แต่ละกลุ่มต้องเสนอเรื่องราวขึ้นมาเองโดยแต่ละกลุ่มทำคนละแผ่นพร้อมกับเนื้อเรื่องที่ได้


4.จากนั้นนำนิทานของทุกกลุ่มมารวมกันจะได้เป็นเรื่องราวที่เสร็จสมบูรณ์








   

**** หมายเหตุ **** ได้หยุดเรียนในวันพฤหัสบดีที่ 16 กัยายน พ.ศ. 2557 เนื่องจากข้าพเจ้าไม่สบาย มีไข้และน้ำมูก เป็นไข้หวัดและภูมิแพ้ จึงได้หยุดเรียนในวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายนนี้








โรคหวัดภูมิแพ้


       โรคหวัดภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย และมักจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ส่วนมากไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เพียงแต่สร้างความรำคาญให้กับคนที่เป็นโรค การใช้ยาแก้แพ้สามารถบรรเทาอาการได้เป็นครั้งคราว ผู้ที่เป็นโรคนี้จำเป็นต้องดูแลตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และขยันออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็อาจช่วยให้โรคทุเลาไปได้

ชื่อภาษาไทย   โรคหวัดภูมิแพ้, โรคแพ้อากาศ
ชื่อภาษาอังกฤษ   Allergic rhinitis, Hay feve

สาเหตุ   เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาไวต่อสิ่งที่แพ้ แล้วปล่อยสาร (เช่น ฮิสตามีน) ออกมา ทำให้เกิดอาการคัดแน่นจมูก จาม น้ำมูกไหล โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักจะพบว่ามีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง (เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หวัดภูมิแพ้ เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ โรคหืด เป็นต้น) อยู่ด้วย สิ่งที่แพ้ มักได้แก่ ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ ความเย็น (อากาศเย็น น้ำเย็น) นุ่น (ที่นอน หมอน) สารเคมี เป็นต้น

อาการ   มีอาการเป็นหวัดคัดจมูก จามบ่อย น้ำมูกมีลักษณะใสๆ มักมีอาการคันจมูก คันคอ คันตา น้ำตาไหล แสบคอ หรือไอแห้ง (แบบระคายคอ) ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการปวดตื้อตรงบริเวณหน้าผาก หรือหัวคิ้ว อาการมักเกิดประจำตอนเช้าๆ หรือเวลาถูกอากาศเย็น ฝุ่นละออง หรือสารแพ้อื่นๆ บางรายจะเป็นตอนช่วงเช้าๆ พอสายๆ ก็หายได้เอง บางรายอาจมีอาการเป็นประจำตลอดทั้งปี บางรายอาจเป็นมากในบางฤดูกาล ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการหายใจดังวี้ดคล้ายหืด

การแยกโรค   อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น

๑. ไข้หวัด ผู้ป่วยมักจะมีอาการตัวร้อน ปวดเมื่อย อ่อนเพลียร่วมด้วย ในผู้ใหญ่มักจะนานๆ (เช่น ๑-๒ ปี) เป็นหนหนึ่ง แต่ถ้าในเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าเรียนหนังสือใหม่ๆ (๓-๔ เดือนแรก) ก็อาจมีกำเริบได้บ่อย ข้อแตกต่างระหว่างหวัดภูมิแพ้กับไข้หวัด ก็คือ หวัดภูมิแพ้มักจะไม่มีไข้ ไม่ปวดเมื่อย ไม่อ่อนเพลีย แต่จะมีอาการจาม คันคอ คันจมูกร่วมด้วย และจะพบว่ามีอาการกำเริบเป็นประจำทุกครั้งที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้

๒. ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อนแบบไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดเมื่อยมาก เบื่ออาหาร ทั้งไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส การรักษาก็เพียงแต่ให้ยาบรรเทาอาการ ก็มักจะหายได้เอง

๓. ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหน่วงตรงหัวคิ้ว หรือบริเวณโหนกแก้ม (ใต้ตา) น้ำมูกมีลักษณะ ข้นเหลืองหรือเขียว และอาจหายใจมีกลิ่นเหม็น โรคนี้อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด หรือหวัดภูมิแพ้ได้ บางคนอาจกำเริบซ้ำซากเวลาเป็นหวัดคัดจมูก ดำน้ำ หรือนั่งเครื่องบิน โรคนี้จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ และถ้าเป็นรุนแรง อาจจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

๔. ริดสีดวงจมูก (ติ่งเนื้อเมือกจมูก หรือ nasal polyps) ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูกตลอดเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี เมื่อใช้ไฟฉายส่องเข้าไปในรูจมูก อาจมองเห็นก้อนเนื้อสีขาวอุดกั้นอยู่ในรูจมูก หากสงสัยควรไปพบแพทย์เพื่อผ่าตัดเอาติ่งเนื้อออก

๕. ผนังกั้นจมูกคด ผนังกั้นกลางระหว่างรูจมูก ๒ ข้างของคนบางคนอาจมีลักษณะคดงอ ซึ่งมักจะเป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากการได้รับบาดเจ็บในภายหลังก็ได้ ถ้าคดงอมาก ก็อาจทำให้มีอาการคัดแน่นจมูกคล้ายริดสีดวงจมูกได้ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการน่ารำคาญหรือทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบแทรกซ้อนบ่อยๆ ก็อาจจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

๖. มะเร็งจมูก และมะเร็งโพรงหลังจมูก ผู้ป่วยจะมีอาการคัดแน่นจมูกเรื้อรังคล้ายริดสีดวงจมูก อาจมีเลือดกำเดาไหล เสียงแหบ หูอื้อ และอาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองโตเป็นก้อนแข็งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า ๑ เซนติเมตร ที่บริเวณข้างคอ หากสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด

การวินิจฉัย   มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดง ได้แก่ อาการคัดจมูก คันคอ คันจมูก จาม น้ำมูกไหล เวลาสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ ในรายที่เป็นเรื้อรัง และไม่ทราบว่าแพ้อะไร แพทย์อาจทำการทดสอบผิวหนัง (skin test) ว่าแพ้สารอะไร หากสงสัยเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก มะเร็งจมูกหรือมะเร็งโพรงหลังจมูก อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น

การดูแลตนเอง  
๑. พยายามสังเกตว่าแพ้อะไร แล้วหลีกเลี่ยงเสีย อาการหวัดภูมิแพ้ก็อาจทุเลาได้เองโดยไม่ต้องกินยา

๒. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบาน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้โรคทุเลาไปได้เอง

๓. ยาแก้แพ้ (แอนติฮิสตามีน) จะใช้ก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ามีอาการมากจนน่ารำคาญ แต่ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยชั่วครู่ ชั่วยาม ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งยา ยาแก้แพ้ที่แนะนำให้ใช้ ซึ่งใช้ได้ผลและราคาถูก ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) โดยกินยานี้วันละ ๑-๒ ครั้ง
  • ผู้ใหญ่ กินครั้งละ ๑ เม็ด
  • เด็กโต กินครั้งละครึ่งเม็ด
  • เด็กเล็ก กินครั้งละ ๑ ส่วน ๔ ของเม็ด (ยาหนึ่งเม็ดแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ให้เด็กเล็กกินเพียง ๑ ส่วน)
คนที่มีอาการแพ้ในช่วงเช้าหลังตื่นนอนให้กินยาแก้แพ้ก่อนนอนเพียงครั้งเดียว ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหวัดในตอนเช้าได้ บางคนอาจต้องกินยาเป็นประจำทุกวันก็ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะยาชนิดนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย
ยาคลอร์เฟนิรามีน มีผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ทำให้ง่วงนอน มึนงง เสมหะเหนียว ปากคอแห้ง ดังนั้น คนที่มีอาชีพขับรถขับเรือหรือทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ควรหลีกเลี่ยงการกินยาในช่วงเวลากลางวัน เพราะอาจทำให้ง่วง และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย คนที่ไอมีเสมหะเหนียวหรือเป็นหอบหืด ไม่ควรใช้ยานี้ เพราะจะทำให้เสมหะเหนียวมากขึ้น และทำให้ไอหอบมากขึ้นได้

๔. ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
 (๑) กินยาแก้แพ้แล้วอาการยังไม่ทุเลา (ในกรณีกินยาแล้วอาการทุเลา แต่พอขาดยาแล้วกำเริบใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโรคหวัดภูมิแพ้)
 (๒) มีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว
 (๓) มีเลือดกำเดาไหล หูอื้อ หรือคลำได้ก้อนที่ข้างคอร่วมด้วย
 (๔) ผู้ป่วยมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง จนรู้สึกไม่สบายใจ หรือสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ
 (๕) มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง
การรักษา   แพทย์จะซักถามอาการ โดยเฉพาะถามหาสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ แล้วแนะนำให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยง ถ้ามีอาการมาก จำเป็นต้องใช้ยาก็อาจให้ยากินแก้แพ้ ซึ่งมีให้เลือกใช้อยู่หลายชนิด เช่น คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine),ไตรโพรลิดีน (triprolidine) เป็นต้น ยาเหล่านี้จะมีฤทธิ์ข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ง่วงนอน มึนงง เสมหะเหนียว ปากคอแห้ง ในรายที่จำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้บ่อย แพทย์อาจเลือกใช้ยาแก้แพ้ที่ออกฤทธิ์นาน และไม่ทำให้ง่วงนอน เช่น ลอราทาดีน (loratadine) กินวันละ ๑ เม็ด

ในรายที่แพ้มากๆ แพทย์อาจต้องทำการทดสอบผิวหนังว่าแพ้อะไร แล้วทำการฉีดสารที่แพ้ให้ผู้ป่วยทีละน้อยๆ เป็นประจำทุก ๑-๒ สัปดาห์ นานเป็นปีๆ เพื่อลดปฏิกิริยาแพ้ของร่างกาย (desensitization) วิธีนี้เสียค่ารักษาค่อนข้างแพง ส่วนใหญ่จะได้ผลดี แต่เมื่อหยุดฉีดก็อาจกำเริบได้ใหม่ โดยทั่วไป แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยพยายาม หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และหมั่นออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรบิก, วิ่งเหยาะ, เดินเร็วๆ, เล่นกีฬาต่างๆ ถ้าทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โรคภูมิแพ้ก็อาจทุเลาได้ และอาจลดละยาที่ใช้ได้

ภาวะแทรกซ้อน   โดยทั่วไปมักไม่มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ในรายที่เป็นเรื้อรังนานๆ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียในไซนัส (โพรงจมูก) กลายเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ บางรายอาจเป็นติ่งเนื้อเมือกจมูก (ริดสีดวงจมูก) คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ต้องระมัดระวังในการใช้ยาต่างๆ เพราะอาจแพ้ยาได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ดังนั้นเวลาไม่สบายด้วยอาการต่างๆ ต้องพยายามใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

การดำเนินโรค   โรคนี้มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ อยู่ประจำตราบเท่าที่ยังสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เมื่อใช้ยาแก้แพ้ ก็จะระงับอาการไปได้ชั่วคราว เมื่อหยุดยาก็จะกำเริบใหม่

การป้องกัน   ผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ง่าย เช่น มีประวัติกรรมพันธุ์เป็นโรคภูมิแพ้ ควรหมั่นดูแลตนเอง ดังนี้

๑. สังเกตว่าแพ้อะไร แล้วพยายามหลีกเลี่ยง

๒. ออกกำลังกายเป็นประจำ

๓. รู้จักผ่อนคลายความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ข้อมูลสื่อ

297-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 297
มกราคม 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น