Flying Purple Butterfly

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

5.จิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย


ทฤษฎีและพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย



จิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

                   จิตวิทยาการเรียนรู้หรือจิตวิทยาการเรียนการสอน เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาหรือจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการนำเอาหลักจิตวิทยามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ โดยมีขอบข่ายที่สำคัญ 3 ประการคือ
1.      ศึกษาถึงธรรมชาติของการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ ตลอดถึงธรรมชาติของการคิด การจำ และการลืม
2.      ศึกษาถึงเชาวน์ปัญญา ความถนัด ความสนใจ และทัศนคติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเรียนรู้
3.      ศึกษาถึงบุคลิกภาพ การปรับตัว และวิธีการปรับพฤติกรรม

                   การนำเสนอจิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในเอกสารเล่มนี้ ผู้เขียน
ขอนำเสนอเฉพาะในส่วนที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย 3 ประการดังนี้
                   1. จุดมุ่งหมายของการศึกษาจิตวิทยาการเรียนรู้
                         การศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ
1.      เพื่อให้เข้าใจในพฤติกรรมของเด็กแต่ละวัยและสามารถจัดประสบการณ์
ให้แก่เด็กได้อย่างสอดคล้อง เหมาะสมกับเด็ก
2.      เพื่อให้เข้าใจในธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้านตลอดจน
รู้วิธีการสร้างแรงจูงใจในการเรียนการสอน
3.      เพื่อช่วยให้ครูเข้าใจในการเตรียมบทเรียน วิธีการสอน วิธีการประเมินผลให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็ก
4.      เพื่อช่วยให้ครูได้นำเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ทางการศึกษามาพัฒนาให้เด็ก
มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น การคิด ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

                         ในการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้นั้นสิ่งสำคัญที่ครูจะต้องคำนึง คือ ความพร้อม (Readiness) อันเป็นช่วงของพัฒนาการของเด็ก ซึ่งจะมีจุดสูงสุด (Optimal Point) ที่เด็กจะเรียนรู้ได้ดี และบังเกิดผลดี ซึ่งจุดที่เราเรียกว่า ความพร้อมนี้ถ้าเด็กยังไปไม่ถึงจุดนี้หรือผ่านพ้นจุดนี้ไปแล้ว เด็กจะเรียนไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการนี้นักจิตวิทยาก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป พวกหนึ่งเห็นว่า พัฒนาการเป็นเรื่องของธรรมชาติที่จะต้องค่อยเป็นค่อยไป อีกพวกหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องประสบการณ์ที่ครูสามารถช่วยจัดให้ได้ (พงษ์พันธุ์  พงษ์โสภา.  2544 : 58 – 59) ดังเช่น
                         Arnold Gesell เห็นว่า ความพร้อมเป็นเรื่องของธรรมชาติที่จะต้องค่อยเป็นค่อยไป
ถ้าเด็กยังไม่พร้อม เราควรรอให้เด็กพร้อมก่อนจึงให้เด็กเรียน
                         Jerome Bruner เห็นว่า ความพร้อมเป็นเรื่องที่สอนกันได้ ไม่จำเป็นต้องให้เด็กรอ
เด็กสามารถเรียนได้ก่อนกำหนด ถ้าเรารู้วิธีการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมเพื่อสอน
ให้เด็กพร้อม
                         Erik Erikson ได้เสนอทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพ เพื่อให้ครูเห็นว่า ในแต่ละ
ช่วงวัยนั้นเด็กมีความพร้อมที่จะพัฒนาในเรื่องใด และเราควรจะจัดการศึกษาอย่างไร
ให้สอดคล้องกับพัฒนาการในแต่ละช่วง
                         Jean Piaget ให้ข้อคิดว่า ครูควรจะสอนเพื่อเร่งเด็กหรือไม่ โดยเสนอ
ขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ให้เป็นข้อพิจารณา ซึ่งจะได้เสนอต่อไป นอกจากนี้
เพียเจท์ (Piaget) ยังมีความเชื่อว่าเป้าหมายของพัฒนาการนั้นคือ
1.      ความสามารถที่จะคิดอย่างมีเหตุผลกับสิ่งที่เป็นนามธรรม
2.      ความสามารถที่จะคิดตั้งสมมุติฐานอย่างสมเหตุสมผล
3.      ความสามารถที่จะตั้งกฎเกณฑ์และการแก้ปัญหา
                         ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าผลงานการศึกษาค้นคว้าของเพียเจท์ (Piaget) ทำให้นักจิตวิทยาและนักการศึกษาได้เข้าใจพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนและกระบวนการอย่างไร ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

                         เพียเจท์ (Piaget) ได้แบ่งขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาออกเป็น 4 ขั้น โดยแต่ละขั้น
ที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวนำไปสู่ขั้นต่อไป หรือขั้นตอนแต่ละขั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันคือ
(พงษ์พันธ์  พงษ์โสภา,  2544 : 62 – 65)
1.      ขั้นการใช้กล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส (Sensori Motor Stage) จะอยู่ในช่วงระยะแรกเกิดถึง 2 ปี พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้แสดงออกโดยการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่ เช่น การมอง การดูด การไขว่คว้า เป็นระยะที่พัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดของเด็กเกิดขึ้นจากการใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ เด็กในวัยนี้แสดงให้เห็นว่ามีสติปัญญาด้วยการกระทำ เด็กสามารถแก้ปัญหาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด การทำงานของประสาทสัมผัส เช่น การเคลื่อนไหวต่าง ๆ เป็นการที่เด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กในวัยนี้

2.      ขั้นเตรียมสำหรับความคิดที่มีเหตุผล (Pre - operational or Pre - conceptual Stage) อยู่ในช่วง อายุ 2 – 7 ปี
                         เพียเจท์ (Piaget) ได้แบ่งพัฒนาการขั้นนี้ออกเป็นขั้นย่อย ๆ 2 ขั้นได้แก่
              2.1 Preconceptual Thought อยู่ในช่วงเด็กอายุระหว่าง 2 – 4 ปี เด็กในวัยนี้
มีความคิดรวบยอด (Concept) ในเรื่องต่าง ๆ แล้วเพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์ และยังไม่มีเหตุผลเด็กสามารถใช้ความหมายของสัญลักษณ์ แต่การใช้ภาษานั้น ยังเป็นภาษาที่เกี่ยวข้องกับตนเองเป็นส่วนใหญ่(Egocentric) เด็กในวัยนี้ชอบเล่นสมมุติโดยใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ก้านกล้วยแทนม้าหรือสมมุติให้ตุ๊กตาเป็นสิ่งมีชีวิต พูดคุยกันได้
              2.2 Intuitive Thought อยู่ในช่วงเด็กอายุระหว่าง 4 – 7 ปี พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กในช่วงนี้ยังคงอยู่ในขั้น Preconceptual Thought กล่าวคือ การคิดของเด็กวัยนี้แม้ว่าจะเริ่มมีเหตุผลขึ้น แต่การคิดและการตัดสินใจก็ยังขึ้นอยู่กับการรับรู้มากกว่าความเข้าใจ พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กในช่วงนี้ จะต่างจาก Preconceptual Thought ตรงที่เด็กวัยนี้เริ่มมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีความสนใจอยากรู้อยากเห็น และมีการซักถามมากขึ้น มีการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการคิด อย่างไรก็ตามความเข้าใจของเด็กวัยนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่รับรู้จากภายนอกอยู่นั่นเอง

1.      ขั้นการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงรูปธรรม (Concrete Operational Stage) อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 7 – 11 ปี พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กวัยนี้ เด็กสามารถใช้สมองคิด
อย่างมีเหตุผล แต่กระบวนการคิดและการใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหายังต้องอาศัยสิ่งที่เป็นรูปธรรมกล่าวคือจะต้องเป็นวัตถุหรือเหตุการณ์ที่เด็กได้พบเห็นจริง ๆ เด็กวัยนี้สามารถเข้าใจถึงเรื่องความคงที่ของปริมาณ (Conservation of Quantity) ได้แล้ว โดยที่เด็กสามารถเข้าใจได้ว่าของแข็งหรือของเหลวจำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่ารูปร่างจะเปลี่ยนไป แต่น้ำหนักหรือปริมาณก็ยังคงเท่าเดิม จุดเด่นของเด็กในวัยนี้คือ เด็กเริ่มมีเหตุผล สามารถคิดกลับไปกลับมาได้ (Reversibility) เด็กเริ่มมองเหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ ได้หลายแง่มุมขึ้น เด็กจะมีความเข้าใจและสามารถตั้งเกณฑ์ที่จะนำมาใช้จัดแบ่งสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดหมู่ได้ และเด็กในวัยนี้ยังสามารถมองวัตถุได้ถึง 2 ลักษณะในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ เด็กสามารถมองถึงขนาด ความยาวไปพร้อมกับน้ำหนักของวัตถุได้
2.      ขั้นการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงนามธรรม (Formal Operational Stage) อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 11 – 15 ปี ในขั้นนี้ โครงสร้างของการงอกงามทางความคิดของเด็กได้มาถึงขั้นสูงสุด เด็กจะเริ่มเข้าใจกฎเกณฑ์ทางสังคมได้ดีขึ้น สามารถเรียนรู้โดยใช้เหตุผลมาอธิบายและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เด็กจะรู้จักวิธีคิดตัดสินปัญหา และพัฒนาการทางความคิดของเด็กในวัยนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เด็กจะมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น มีความสนใจในสิ่งที่เป็นนามธรรมและสามารถเข้าใจเรื่องของนามธรรมได้ดีขึ้น
                    นักการศึกษาได้นำแนวคิดของเพียเจท์ (Piaget) มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนหรือจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในหลายประเด็นคือ
1.      เนื่องจากภาษาและความคิดของเด็กจะมีลักษณะเฉพาะและแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ดังนั้นในการเรียนการสอนครูจะต้องคำนึงถึงและสังเกตโดยใกล้ชิด เพื่อจะได้ทราบลักษณะเฉพาะของเด็ก
2.      โดยธรรมชาติของเด็ก เด็กพยายามจะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองเพื่อเป็น
การเรียนรู้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ พยายามให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กก็จะเกิดความเข้าใจ
ในเรื่องนั้นได้อย่างถ่องแท้
3.      โดยทั่วไป เด็กจะมีความสนใจและเรียนรู้ได้ดี ถ้าบทเรียนนั้นมีระดับ
ปานกลาง กล่าวคือ ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไปสำหรับเด็กที่จะเรียนรู้ แต่เนื่องจาก
ความแปลกใหม่ ความน่าสนใจของสิ่งที่จะเรียนรู้สำหรับเด็กคนหนึ่ง อาจเป็นความเคยชิน
จนไม่ค่อยน่าสนใจสำหรับเด็กอีกคนหนึ่งก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนการสอนเป็นกลุ่ม
อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อมีโอกาสครูจึงควรให้เด็กได้เรียนหรือทำงานตาม
ความสนใจของเด็กแต่ละคน
4.      ครูควรสนับสนุนให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นในเชิงโต้แย้งออกมา
ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นลักษณะปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่งอกงามยิ่งขึ้น

               2.  ธรรมชาติของการเรียนรู้
                     ธรรมชาติของการเรียนรู้ของคนประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 4 ประการคือ
(มาลี  จุฑา,  2544 : 67 – 68)

1.      ความต้องการของผู้เรียน (Want) คือผู้เรียนอยากทราบอะไร เมื่อผู้เรียน
มีความต้องการอยากรู้อยากเห็นสิ่งใดก็ตาม จะเป็นสิ่งยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
2.      สิ่งเร้าที่น่าสนใจ (Stimulus) ก่อนที่จะเรียนรู้ได้จะต้องมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจและน่าสัมผัส สำหรับผู้เรียนเพื่อทำให้ผู้เรียนดิ้นรน ขวนขวายและใฝ่ใจที่จะเรียนรู้ในสิ่ง
ที่น่าสนใจนั้น ๆ
3.      การตอบสนอง (Response) เมื่อมีสิ่งเร้าที่น่าสนใจและน่าสัมผัส ผู้เรียน
จะทำการสัมผัสโดยใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ตาดู หูฟัง ลิ้นชิม จมูกดม ผิวหนังสัมผัส
และสัมผัสด้วยใจ เป็นต้น ทำให้มีการแปลความหมายจากการสัมผัสสิ่งเร้า เป็นการรับรู้ จำได้ ประสานความรู้เข้าด้วยกัน มีการเปรียบเทียบและคิดอย่างมีเหตุผล
4.      การได้รับรางวัล (Reward) ภายหลังจากการตอบสนองผู้เรียนแล้ว ผู้เรียนอาจเกิดความพึงพอใจ ซึ่งเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่งจะได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การได้เรียนรู้ในวิชาชีพชั้นสูงจนสามารถออกไปประกอบอาชีพชั้นสูงได้ นอกจากจะได้รับรางวัล
ทางเศรษฐกิจเป็นเงินตราแล้ว ยังได้รับรางวัลเป็นเกียรติยศจากสังคม เป็นศักดิ์ศรีและ
ความภาคภูมิใจทางสังคมอีกประการหนึ่งด้วย

                   3.  การเรียนรู้ทางภาษา

                         ดังได้กล่าวมาแล้วในบทที่ 1 ที่ว่า ภาษาประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ เสียง ความหมายและไวยกรณ์ และการที่เด็กเล็กเรียนภาษาได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ
หลายประการ อาทิ ความพร้อมด้านสรีรวิทยา (Physiological Level) ซึ่งเป็นระบบทำงาน
ของเซลประสาท และระบบอวัยวะต่าง ๆ ในการรับฟัง และพูดที่ถือเป็นปัจจัยภายในที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อีก เช่น สิ่งแวดล้อม และสังคม อย่างไรก็ตามการที่เด็ก
จะเรียนรู้ภาษาได้ดีครูควรมีเทคนิควิธีการ ดังนี้ (ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์,  2543 : 114 – 115)
1.      ครูควรตรวจสอบความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนว่าได้มีความรู้เดิม
ในด้านภาษาเป็นอย่างไร เพื่อจะได้จัดเนื้อหาใหม่ให้มีความสัมพันธ์กับเนื้อหาเดิมของผู้เรียน
2.      ตรวจสอบเนื้อหาวิชาด้านภาษาที่จะสอน ให้มีความหมายกับผู้เรียน ซึ่งเป็น
สิ่งที่มีความจำเป็นเพราะสิ่งที่มีความหมายและการใช้บ่อยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ภาษาในระดับต้น ๆ ครูจึงควรเตรียมเนื้อหาทั้งภาษาเขียน ภาษาพูด ให้เหมาะสมกับวัยและชั้นของผู้เรียนด้วย
3.      ตั้งวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม และอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจกับสิ่งที่คาดหวังว่าจะให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ขึ้น การเรียนรู้โดยการจูงใจหรือตั้งใจนั้นได้ผลสูงกว่าการเรียนโดยไม่ได้ตั้งใจ ครูจึงจำเป็นต้องเตรียมผู้เรียนก่อนที่จะเริ่มเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความตั้งใจ
และรู้วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการเรียน
4.      จัดให้มีการฝึกหัดอย่างเหมาะสม การฝึกหัดกับการเรียนรู้ทางภาษาจำเป็นต้องมีคู่กันเสมอ เพราะเป็นการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสตอบสนองให้เกิดความชำนาญเพิ่มขึ้น และเพื่อให้เกิดการจำได้นอกเหนือจากความเข้าใจ ควรจะกำหนดบทเรียนให้เหมาะสมแก่การฝึกด้วย รวมทั้งมีการทดสอบความรู้และความสัมฤทธิ์ผลในการเรียนจนเป็นที่พอใจ
5.      ให้มีความรู้ที่จะตอบสนองได้อย่างถูกต้อง การที่ผู้เรียนจะเกิดความรู้
ที่จะตอบสนองอย่างถูกต้อง จำเป็นที่ครูจะต้องพิจารณาใช้การบอกแนะและการเสริมแรง
การบอกแนะและการเสริมแรงทำให้ผู้เรียนได้รู้วิธีที่ถูกต้อง ทำให้การเรียนรู้ขั้นต่อไปง่าย
และเข้าใจดีขึ้น เช่น ความสามารถออกเสียงคำต่าง ๆ ได้ถูก รู้ความหมายก็ทำให้อ่านเรื่องราว
ได้ดีขึ้น
6.      จัดสภาพการณ์ที่ลดสิ่งขัดขวาง โดยการพิจารณาเนื้อหาวิชาที่คล้ายคลึงกันและที่ใกล้เคียงกันให้นำมารวมเข้าด้วยกัน และถ้าต่างกันก็ควรแยกแยะให้เห็นความแตกต่าง หากครูต้องการเน้นความแตกต่างก็ต้องแสดงให้เด่นชัด
7.      จัดวิธีวัดผลที่เหมาะสม โดยพิจารณาว่าตรงกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
ที่ตั้งไว้หรือไม่ รวมทั้งให้สอดคล้องกับพื้นฐาน เนื้อหาที่ผู้เรียนได้รับด้วย
                   การเรียนรู้ทางภาษาของเด็กปฐมวัย ครูสามารถจัดกิจกรรมพัฒนาภาษาของเด็กในช่วงของกิจกรรมตามตารางกิจกรรมประจำวัน นั่นคือการจัดกิจกรรมตั้งแต่เช้าถึงเย็น
ในระหว่างเวลา 8.00 น. – 15.00 น. ซึ่งครูสามารถจัดกิจกรรมพัฒนาทางภาษาของเด็ก
ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียนได้ดังตัวอย่าง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,  2552 : 48 – 49) แต่ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นว่าต้องจัดตามตัวอย่างทุกช่วงเวลา แต่ควรพิจารณาเลือกจัดตามความเหมาะสม โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละวัน ตลอดจนดูความสนใจ
ของเด็กร่วมด้วย

ตารางที่  2      ตัวอย่างกิจกรรมประจำวันกับการเรียนรู้ภาษาของเด็ก

ช่วงกิจกรรม
ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาของเด็ก


กิจกรรมรับเด็ก
- ลงชื่อมาโรงเรียน/สนทนาเป็นรายบุคคล
กิจกรรมทักทาย
- ทำปฏิทินร่วมกัน

- สังเกตและทำบันทึกเกี่ยวกับสภาพอากาศประจำวัน

- สนทนาข่าวและเหตุการณ์

- นำสิ่งของมาแสดงและเล่าเรื่อง
กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
- ฟัง/ร้องเพลง ฟัง/ท่องกลอน คำคล้องจอง และทำท่าทาง
  ประกอบ




ตารางที่  2      (ต่อ)

ช่วงกิจกรรม
ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาของเด็ก



- ฟังคำบรรยาย คำสั่ง แล้วตีความเพื่อตอบสนอง
  อย่างเหมาะสม เช่น ปฏิบัติตามคำสั่ง/ข้อตกลง เคลื่อนไหว
  อิสระ
กิจกรรมเสริมประสบการณ์
- อภิปรายร่วมกับเพื่อนและครู

- กิจกรรมการอ่านร่วมกัน

- กิจกรรมการเขียนร่วมกัน

- ฟังครูอ่านออกเสียง
กิจกรรมการอ่านตามลำพัง
- เลือกหนังสือตามความสนใจมาอ่านเงียบ ๆ คนเดียว
กิจกรรมสร้างสรรค์
- เขียนบรรยายผลงาน

- เขียนบันทึกการปั้น/การประดิษฐ์/ศิลปะประเภทต่าง ๆ
กิจกรรมเสรี
- อ่านอิสระในมุมหนังสือ

- เขียนอิสระในมุมเขียน/มุมที่สัมพันธ์กับหน่วย

- เล่าเรื่องซ้ำ

- ฟังครูอ่านออกเสียงในกลุ่มย่อย
กิจกรรมกลางแจ้ง
- การฟังเสียงต่าง ๆ ในบริเวณโรงเรียน

- การอ่านป้ายต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมตามโอกาส
กิจกรรมอาหารกลางวัน
- บันทึกรายการอาหารที่เด็กรับประทาน

- ท่องกลอนหรือคำคล้องจอง

- สนทนากับเพื่อนอย่างอิสระ
กิจกรรมนอนพักผ่อน
- ฟังครูอ่านออกเสียงนิทานก่อนนอน

- ฟังเพลงที่ผ่อนคลายอย่างมีความสุข
กิจกรรมเกมการศึกษา
- เล่นเกมภาษา

- การสอนอ่านแบบชี้แนะ (กลุ่มย่อย)


ตารางที่  2      (ต่อ)

ช่วงกิจกรรม
ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาของเด็ก


กล่อนกลับบ้าน
- ฟังครูอ่านออกเสียง

- อ่านอิสระในมุมหนังสือ

- เขียนอิสระในมุมเขียน

- เลือกหนังสือและยืมหนังสือกลับบ้าน




ความสัมพันธ์ของภาษากับการคิด

                   นักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้ความเห็นพ้องกันว่าภาษากับการคิดมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การคิดเป็นรูปของพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่ใช้สัญลักษณ์เป็นตัวแทนของสิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่สัญลักษณ์ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะคำต่าง ๆ ในภาษาที่เราใช้อยู่ทุกวัน แต่ยังรวมไปถึงสัญลักษณ์ประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ ป้ายจราจร เป็นต้น แต่ภาษาก็เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้มากกว่าสัญลักษณ์ประเภทอื่น ๆ ที่ต้องใช้การคิดเป็นพื้นฐาน
                   สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2552 : 3 – 4, 19)
ได้อธิบายว่า สมองเริ่มมีปฏิบัติการทางภาษาจริงจังมาตั้งแต่ทารกอายุได้ราว 18 เดือน หรือ 1 ขวบครึ่ง สมองส่วนรับเสียงจะพัฒนาไปก่อน ส่วนการเปล่งเสียงนั้นพัฒนาช้ากว่า ถ้าเราบอกให้เด็กขวบครึ่งทำอะไร เด็กก็ทำตามได้เขาเข้าใจ แต่ยังพูดไม่ได้ เพราะสมองยังไม่พร้อมสำหรับการพูดออกมา พัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้เด็กแสดงความคิดและตัวตนออกมาได้ นอกจากนี้นักประสาทวิทยาได้อธิบายไว้ว่า สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ภาษานั้นไม่ได้ทำงานส่วนเดียวโดด ๆ ตามลำพัง แต่มันทำงานร่วมกับส่วนรับภาพกล่าวคือ ขณะรับเสียง สมองจะทำการประมวลผลข้อมูลจากเสียงที่ได้ยิน เช่นได้ยินคำว่า ดวงดาว ต้นไม้ ฯลฯ จากนั้นสมองก็จะนำเสียงที่ได้ยินนั้นไปเชื่อมกับภาพที่จำได้ หรือภาพที่มองเห็น จากนั้นสมองก็จะจัดการเก็บข้อมูลเสียงและภาพที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้เอาไว้ในความจำ (memory) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ภาษาหรือเข้าใจภาษา หรือเป็นความสัมพันธ์ของภาษากับการคิด
                   การคิดเป็นกระบวนการทำงานของสมองในส่วนที่เรียกว่านีโอคอร์เท็กส์ ซึ่งเป็นสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความฉลาดและการคิดของคน ความฉลาดและความคิดเป็นสิ่งที่มาจากความรู้สึกนึกคิดของสมอง สมองจะมีความสามารถในการที่จะเรียนรู้และมีประสบการณ์มากขึ้น เก็บข้อมูลได้มากขึ้น มนุษย์เราเมื่อมีการรับรู้ข้อมูล ข้อมูลต่าง ๆจะถูกจัดเก็บโดยวิธีการจำ การคิด การให้เหตุผล การจัดโครงสร้าง การเชื่อมโยงสัมพันธ์ การแก้ปัญหา หรือการผสมผสานระหว่างวิธีการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ส่วนผลผลิตมักจะออกมาในรูปของการใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย ภาษาทั้งการพูด การเขียน การแสดงท่าทาง การแสดงสีหน้าและแววตา การทำงานของการคิดนี้ ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ทำงานตามที่ควรจะเป็น
ผลก็คือมีความผิดปกติเกิดขึ้น

                   ในปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการทำงานของสมองในด้านกระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ว่าสมองทำงานอย่างไร การแบ่งการทำงานของสมองโดยเฉพาะในด้านการควบคุม การคิด ประสาทรับรู้และด้านการเคลื่อนไหวของสมองทั้ง 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา สมองแต่ละซึกจะทำงานและมีหน้าที่ต่างกัน สมองซีกซ้ายจะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกขวา ส่วนสมองซีกขวาจะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย สมองซีกซ้ายจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งนำเข้าในเชิงตรวจสอบวิเคราะห์พิจารณาในเชิงจัดระบบและเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การเรียนรู้เชิงทักษะและเชิงเหตุผล เช่น กฎเกณฑ์ของการพูด การอ่าน และคณิตศาสตร์ สมองซีกขวาจะควบคุมเกี่ยวกับความคุ้นเคยและพื้นฐานของพื้นที่ ความสามารถพิเศษ การตระหนักของร่างกายและการยอมรับ การจำหน้าตา การพัฒนาทางสติปัญญาด้านการคิด จะเกิดขึ้นได้โดยเด็กจะต้องผ่านพัฒนาการที่สำคัญ 4 ขั้น ที่เพียเจท์กล่าวถึง สติปัญญาจะงอกงามได้ต้องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและการทำงานของสมอง ระบบของสติปัญญาจะเปลี่ยนแปลงเป็นขั้น ๆ ตามประสบการณ์ที่เด็กได้รับ โดยสิ่งเร้าจะรวมเข้าไปในโครงสร้างของการคิดพัฒนาเป็นขั้นก่อนการคิดรวบยอดและพัฒนาสู่ขั้นการคิดรวบยอด การทำงานของสติปัญญาจะเริ่มจากการรับรู้และรวบรวมไว้กลายเป็นข้อมูลต่าง ๆ ในสมอง การทำงานของสมองจะทำงานทั้งซีกซ้ายและซีกขวาไป
พร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะสมองซีกซ้ายนั้นจะทำงานเกี่ยวกับภาษา ความมีเหตุผล คิดเป็นคำพูด หรือการใช้ภาษา ฯลฯ

                   สมองมีตำแหน่งรับรู้ต่าง ๆ กัน ได้แก่ ส่วนรับภาพ (Visual Cortex) ส่วนรับเสียง (Auditory Cortex) ส่วนรับสัมผัสและรับรู้การเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (Sensory Cortex) สมองส่วนต่าง ๆ เหล่านี้จะพัฒนาขึ้นมาได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการกระตุ้นของสิ่งแวดล้อมภายนอก สมองของเด็กที่เข้าใจเกี่ยวกับภาพ เสียง และสัมผัสแบบต่าง ๆ
มีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลจากภาพ เสียง และสัมผัสเหล่านี้จะก่อรูปขึ้นเป็นเรื่องราว
ที่จะรับรู้ เข้าใจซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ได้ในที่สุด สมองส่วนหน้านั้นมีหน้าที่คิด ตัดสินใจ เชื่อมโยงการรับรู้ไปสู่การกระทำที่เป็นลำดับขั้นตอน เช่น ฟังเข้าใจ พูดสื่อสารออกมาได้
อ่านได้ ก็โดยการที่สมองส่วนหน้าจัดการเชื่อมโยงข้อมูลจากภาพ เสียง และสัมผัสนำมาประมวลผล แล้วเปลี่ยนเป็นปฏิบัติเป็นลำดับก่อนหลังอย่างถูกต้อง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  2552 : 15)
                   การเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัย เป็นการเรียนรู้ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับการคิด
ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดซึ่งกันและกันเพื่อให้มีความเข้าใจกันในสังคม จำเป็นต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเป็นสำคัญ ภาษาถือได้ว่ามีหน้าที่ในการสื่อความคิด คือเป็นสะพานเชื่อมโยงความคิดของมนุษย์ไปสู่
กันและกันได้ ดังนั้นภาษาและความคิดจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด


บทสรุป

                   นักการศึกษาและนักจิตวิทยาได้ศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ภาษาไว้หลายทฤษฎี เช่นทฤษฎีของนักพฤติกรรมศาสตร์ ทฤษฎีสภาวะติดตัวโดยกำเนิด ทฤษฎีของนักสังคมศาสตร์ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาและทฤษฎีของนักจิตวิทยาภาษาศาสตร์ ซึ่งทุกทฤษฎีสรุปได้ว่า การเรียนรู้ทางภาษาเกิดจากความพร้อมทางด้านร่างกาย สติปัญญา การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การเสริมแรง พัฒนาการทางภาษาเกิดขึ้นจากความพึงพอใจแห่งตน การเลียนแบบ การได้รับการเสริมแรง ฯลฯ พัฒนาการทางภาษาของเด็กในระยะแรกประมาณ 1 เดือน เด็กสามารถจำแนกเสียงต่าง ๆ ได้ และจะพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆจนประมาณ 4 – 5 ปีเด็กจะสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยหรือองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ได้แก่ วุฒิภาวะ สิ่งแวดล้อม สถานภาพทางสังคม ฯลฯ อย่างไรก็ตามเด็กปฐมวัยจะเรียนรู้ภาษาได้ดี เมื่อเด็กมีความพร้อม ซึ่งความพร้อมของเด็กสามารถสอนหรือเตรียมให้แก่เด็กได้โดยการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้แก่เด็ก นอกจากนี้นักจิตวิทยาได้ให้แนวคิดไว้ว่าภาษาและการคิดมีความสัมพันธ์สอดคล้องกันอย่างใกล้ชิด เพราะมนุษย์เมื่อมีการสื่อสารจะเก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยวิธีการจำ เด็กอายุขวบครึ่งเริ่มมีพัฒนาการของภาษาในส่วนที่รับเสียงและเปล่งเสียงพูด แต่การพูดจะพัฒนาค่อนข้างช้ากว่าการฟังการจัดประสบการณ์ทางภาษาที่ดีให้แก่เด็ก ( อ้างในเอกสารประกอบการสอน: นันทา  โพธิ์คำ )

แหล่งอ้างอิง http://www.oknation.net/blog/print.php?id=845068

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น