Flying Purple Butterfly

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

1.ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย

ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัย




          เด็กปฐมวัยเรียนรู้ภาษา จากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวทั้งสิ่งแวดล้อมที่บ้าน และโรงเรียน เด็กจะเรียนรู้การฟังและการพูดก่อน เพราะการฟังและการพูดเป็นของคู่กัน เป็นพื้นฐาน

      ทางภาษา กล่าวคือ เมื่อฟังแล้วก็ย่อมต้องพูดสนทนาโต้ตอบได้ การเรียนภาษาของเด็กปฐมวัยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสอนอย่างเป็นทางการ หรือตามหลักไวยกรณ์ แต่จะเป็นการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือเป็นการสอนแบบธรรมชาติ


ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา

                   การเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัย มีหลายทฤษฎีที่ควรกล่าวอ้างถึงมีดังนี้
         1. ทฤษฎีของนักพฤติกรรมศาสตร์ (The Behaviorist View)
                         ทฤษฎีนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาของเด็กโดยกล่าวว่าการเรียนรู้ภาษาของเด็กเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากผลการปรับสิ่งแวดล้อมของแต่ละบุคคลที่มีอยู่ในตนเอง ในขณะที่เด็กเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แรงเสริมในทางบวกจะถูกนำมาใช้เมื่อภาษาของเด็กใกล้เคียง หรือถูกต้องตามภาษาผู้ใหญ่ ซึ่งนักพฤติกรรมศาสตร์มีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนภาษาของเด็ก คือ
                            1.1. เด็กเกิดมาโดยมีศักยภาพในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
โดยปราศจากความสามารถพิเศษทางด้านการเรียนทางใดทางหนึ่ง

                           1.2. การเรียนรู้ ซึ่งรวมถึงการเรียนภาษาเกิดขึ้น โดยการที่สิ่งแวดล้อมเป็นผู้ปรับพฤติกรรมผู้เรียน
                           1.3. พฤติกรรมทั่วไปรวมทั้งพฤติกรรมภาษา ถูกปรับโดยแรงเสริมจากการตอบสนองที่เกิดขึ้นจากสิ่งเร้า
                          1.4. ในการปรับพฤติกรรมที่ซับซ้อนอย่างเช่นภาษา จะมีกระบวนการเลือกหรือทำให้การตอบสนองเฉพาะเจาะจงขึ้น โดยผ่านการใช้แรงเสริมทางบวก ถึงแม้ว่าการตอบสนองทั่วไปและชนิดง่าย ๆ จะได้แรงเสริมทางบวกตั้งแต่เริ่มต้น แต่การให้แรงเสริมในระยะหลัง ๆ จะถูกนำมาใช้กับการตอบสนองที่ซับซ้อนและใกล้เคียงกับเป้าหมายทางพฤติกรรมสูงสุด

        2. ทฤษฎีสภาวะติดตัวโดยกำเนิด (The Nativist View)
                         ทฤษฎีนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ หรือกฎเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นมาแต่กำเนิด
โดยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาของเด็กแตกต่างจากนักพฤติกรรมศาสตร์สองประการสำคัญ คือ
                                1. การให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบภายในบุคคลเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา
                                2. การแปลความบทบาทขององค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ภาษา

                         ชอมสกี้และแมคนีล (McNeill.  1960 ; อ้างถึงใน หรรษา นิลวิเชียร, 2535 ; 206)  เป็นผู้มีความเชื่ออย่างแรงกล้า เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาของเด็กว่า เด็กทุกคนเกิดมาโดยมีโครงสร้างทางภาษาศาสตร์อยู่ในตัวหรือติดตัวโดยกำเนิด ซึ่งได้แก่ โครงสร้างทางด้านความหมาย ประโยคและระบบเสียง ตามความเชื่อนี้ เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนระบบของภาษา เด็กเพียงแต่ต้องค้นหาว่าระบบภาษาของตนเองเกี่ยวข้องกับภาษาสากลอย่างไร เด็กไม่ต้องเรียนรู้ว่าเราสามารถตั้งคำถามได้ แต่ต้องเรียนรู้ว่าจะตั้งคำถามอย่างไรหรือเรียนรู้ว่าจะใช้กลุ่มเสียงใด จะรวมกลุ่มเสียงเข้าด้วยกันอย่างไร โดยสรุปก็คือ เรียนรู้การใช้ภาษาของตนทั้งด้านความหมายประโยค และเสียง

                         เล็นเบิร์ก (Lenneberg) เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดของนักทฤษฎีสภาวะติดตัวโดยกำเนิด เขาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาการทางร่างกาย และขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เขากล่าวว่าเด็กเกิดมาด้วยความสามารถทางภาษา มิใช่เป็นผ้าขาว ความสามารถทางการเรียนภาษาของเด็กถูกจัดโปรแกรมไว้ในตัว และมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รับอีกด้วย ตราบใดที่เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางภาษาพูด เด็กจะพัฒนาการพูดโดยอัตโนมัติ และความสามารถทางภาษาจะแยกเป็นอิสระจากระดับไอคิว


          3. ทฤษฎีของนักสังคมศาสตร์ (The Socialist View)
                         นักทฤษฎีสังคมหรือทฤษฎีวัฒนธรรมจะให้ความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อมทางภาษาของผู้ใหญ่ที่มีต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ผลการวิจัยกล่าวว่า วิธีการที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ปฏิบัติต่อเด็กมีผลต่อพัฒนาการทางภาษา และพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก วิธีการเหล่านี้ ได้แก่ การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง การสนทนาระหว่างรับประทานอาหาร การแสดงบทบาทสมมุติ การสนทนา เป็นต้น

         4. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์ (Piaget Theory)
                         เพียเจท์ (Piaget) เชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาเป็นผลจากความสามารถทางสติปัญญา เด็กเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัวของเขา เด็กจะเป็นผู้ปรับสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ภาษาของตน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                                1. เด็กมีอิทธิพลต่อวิธีการที่แม่พูดกับเขา จากผลการวิจัยปรากฏว่า แม่จะพูดกับลูกแตกต่างไปจากพูดกับผู้อื่น เพื่อรักษาการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน แม่จะพูดกับเด็กเล็ก ๆ
ต่างจากเด็กโตและผู้ใหญ่ จะพูดประโยคที่สั้นกว่า ง่ายกว่า เพื่อการสื่อสารที่มีความหมาย
                                2. เด็กควบคุมสิ่งแวดล้อมทางภาษา เพื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เด็กต้องการค้นพบว่าเสียงที่ได้ยินมีความหมายอย่างไร มีโครงสร้างเพื่อองค์ประกอบพื้นฐานอะไร
                                3. การใช้สิ่งของหรือบุคคลเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเข้าใจพื้นฐานว่า ผู้ใหญ่เห็นหรือได้ยินเขาพูด เด็กอาจเคลื่อนไหวตัวหรือ จับ ขว้าง ปา บีบ ของเล่น เพื่อสร้างความเข้าใจเพื่อเป็นพื้นฐาน และความจำเป็นของความเจริญทางภาษา การเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับผู้อื่น เกี่ยวกับสิ่งของ เกี่ยวกับเหตุและผล เกี่ยวกับสถานที่ มิติ เกี่ยวกับการเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ของกิริยาและสิ่งของ มีส่วนช่วยให้เด็กแสดงออกทางภาษาอย่างมีความหมาย นั่นคือเด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม
                         นอกจากนี้เพียเจท์ (Piaget) ยืนยันว่า พัฒนาการทางภาษาของเด็กเป็นไปพร้อม ๆ กับความสามารถด้านการให้เหตุผล การตัดสิน และด้านตรรกศาสตร์ เด็กต้องการสิ่งแวดล้อม
ที่จะส่งเสริมให้เด็กสร้างกฎ ระบบเสียง ระบบคำ ระบบประโยค และความหมายของภาษา นอกจากนี้เด็กยังต้องการฝึกภาษาด้วยวิธีการหลาย

         5. ทฤษฎีของนักจิตวิทยาภาษาศาสตร์ (Psycholinguistics Theory)
                      ทฤษฎีนี้ชอมสกี้ (Chomskey,  1960 ; อ้างถึงใน สุภาวดี  ศรีวรรธนะ,  2542 : 36) กล่าวว่า การเรียนรู้ภาษาเป็นเรื่องซับซ้อนซึ่งจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างภาษาในตัวเด็กด้วย
เพราะบางครั้งเด็กพูดคำใหม่โดยไม่ได้รับแรงเสริมมาก่อนเลย เขาอธิบายการเรียนรู้ภาษาของเด็กว่าเมื่อเด็กได้รับประโยค หรือกลุ่มคำต่าง ๆ เข้ามาเด็กจะสร้างไวยกรณ์ขึ้น โดยใช้เครื่องมือการเรียนรู้ภาษาที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งได้แก่อวัยวะเกี่ยวกับ การพูด การฟัง นอกจากนี้
                     เล็นเบอร์ก (Lenneberg) ยังเป็นผู้หนึ่งที่เสนอทฤษฎีแนวนี้โดยมีความเชื่อว่า มนุษย์มีอวัยวะ
ที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ภาษา ถ้าสมองส่วนนี้ชำรุด หลังจากวัยรุ่นตอนต้น (อายุประมาณ
12 ปี) จะทำให้การเรียนรู้ภาษาใหม่ได้ยาก


แหล่องอ้างอิง http://www.oknation.net/blog/print.php?id=845068

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น